วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

เขาล้านบ้านเรา

       
เขาล้านบ้านเรา

            ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด มีชื่อเรียกเดิมว่า "ศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน" ตั้งอยู่ถนนตราด-คลองใหญ่ กิโลเมตรที่ 48 ริมทางหลวงหมายเลข 318 เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้สภากาชาดไทย จัดตั้งศูนย์รับผู้อพยพชาวกัมพูชาจำนวนนับแสนคน ณ บริเวณบ้านเขาล้าน ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ในโอกาสที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้อพยพที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2522

 

 ในระยะแรก ผู้อพยพทำที่พักอาศัยอยู่ที่ใต้ต้นไม้โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่เป็นเครื่องบังแดดบังฝน ต่อมาได้สร้างเพิงชั่วคราวเพื่อใช้เป็นที่ทำการในการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ รวมทั้งที่พักและหน่วยพยาบาล แล้วจึงได้มีการก่อสร้างอาคารถาวร ประกอบด้วยสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า โรงฝึกอบรม โรงเรียน และบ้านพักศูนย์สภากาชาดไทยแห่งนี้ได้ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือชาวกัมพูชาอพยพอยู่ 7 ปีเศษ จึงได้ปิดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 และเมื่อปิดศูนย์ฯ ลง สภากาชาดไทยได้ขอให้กองทัพเรือส่งทหารเข้ามาดูแลพื้นที่ กองทัพเรือจึงได้จัดให้ชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธินที่ 3 เข้ามาอยู่ดูแลสถานที่ แต่ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

        เมื่อปี 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงมีพระราชดำริให้สภากาชาดไทย จัดทำโครงการพัฒนาศูนย์สภากาชาดไทยแห่งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษาได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 3 ประการ คือ
1. จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ชาวไทยชายแดน และชาวกัมพูชาอพยพ พระราชทานนามอาคารพิพิธภัณฑ์นี้ว่า "ศาลาราชการุณย์" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29เมษายน 2535สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่26พฤษภาคม 2537ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงความเป็นมาและสภาพความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาอพยพ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือของสภากาชาดไทยที่มีต่อผู้อพยพ รวมทั้งสิ่งของที่ผู้อพยพนำติดตัวมา
2. จัดเป็นสถานที่เข้าค่ายฝึกอบรมเยาวชนทั้งยุวกาชาด ลูกเสือ เนตรนารี นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ
3. ปรับปรุงพื้นที่ชายหาดให้เป็นสถานที่พักผ่อน สำหรับบุคคลทั่วไป


หลวงพ่อแดง เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยปางมารวิชัย องค์พระพุทธรูปเดิมเป็นทองเหลืองเคลือบสีแดง จัดสร้างโดยพระวิสุทธิญาณเถระ (หลวงปู่สมชาย ฐิตฺวิริโย) วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้มีพระพุทธรูปไว้สักการะบูชา เพื่อยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แก่ผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่หนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อปี พ.ศ.2522และเป็นที่สักการะบูชาของชาวจังหวัดตราดและจังหวัดใกล้เคียง

สวนไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 76จังหวัด ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 72พรรษา ในปี พ.ศ. 2542สภากาชาดไทย จัดทำโครงการพฤกษชาติบูชา พระบรมราชูปถัมภก 6 รอบ ปลูกต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 76 จังหวัด รวม 972 ต้น ล้อมรอบรูปแผนที่ประเทศไทยในพื้นที่ประมาณ 16 ไร่เศษ

สวนสมุนไพรสมเด็จองค์อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ปลูกต้นไม้และพืชสมุนไพร จัดเป็น 20 กลุ่มโรค ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการสำหรับเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป

สถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป มีที่พักชนิดห้องเตียงคู่ จำนวน 30 ห้อง มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ละห้องมีเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ เครื่องทำน้ำอุ่น ห้องน้ำในตัว และอาคารที่พักนอนรวมอีก 8 อาคารสามารถรองรับผู้เข้าพักได้ทั้งสิ้น รวม 209 เตียง มีสถานที่สำหรับประชุมสัมมนา จัดค่ายพักแรมของเยาวชนและสถานที่กางเต็นท์ โดยมีชุดควบคุมอาสาสมัครทหารพรานนาวิกโยธินที่ 3 คอยดูแลความปลอดภัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่พัก ได้ที่ โทร. 0-3952-1838, 0-3950-1015 โทรสาร.0-3952-1621

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น